วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557




  ใครจะเชื่อว่าครูบ้านนอกคนหนึ่งจะกลายเป็นนักเขียนมือรางวัลที่หลายคนจับตามอง ที่สำคัญเธอคือนักเขียนหญิงเพียงหนึ่งเดียวของ 7 เล่มซีไรต์ปีนี้

 
 
บรรณพิภพมีโอกาสต้อนรับนักเขียนสตรีมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทว่าน่าตกใจที่จำนวนนักเขียนสตรีกลับค่อยๆ ลดน้อยลงทุกเมื่อเชื่อวัน ที่บอกนี้ไม่นับนักเขียนที่ 'เขียนเพื่อขาย' ซึ่งมีดาษดื่น แต่จับต้องยาก
 
 เงาจันทร์ นามปากกาของ อำไพ สังข์สุข คือหนึ่งในนักเขียนสตรีเพศที่มีผลงานคุณภาพ การันตีจากรางวัลหลายเวที นับตั้งแต่เธอจรดปลายปากกาลงบรรจงเขียน ชื่อ 'เงาจันทร์' ก็ขึ้นแท่นนักเขียนมือรางวัลทันที แม้กระทั่งวันนี้ ในรูปเงา นวนิยายขนาดสั้นของเธอก็ติดโผนวนิยาย 7 เล่มสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (S.E.A.Write) ปีนี้ด้วย
 
 
ฉันเป็นลูกชาวนา
 
 ก่อนที่อำไพจะกลายเป็นเงาจันทร์ เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดเพชรบุรี ไอดินกลิ่นหญ้าอวลอยู่รอบตัวตั้งแต่เกิด กลิ่นแห่งท้องทุ่งจึงคลุ้งอยู่ในงานเขียนของเธอในเวลาต่อมาด้วย
 
 แม้ภาพของเพชรบุรีจะอยู่กับเธอจนชินตา ทว่า เงาจันทร์ไม่ละทิ้งถิ่นเกิดไปอยู่ที่อื่นใด ปัจจุบันเธอยังใช้ชีวิตเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมเล็กๆ ริมแม่น้ำเพชรบุรีมากว่า 20 ปี แล้ว ชีวิตครูดำเนินท่ามกลางนักเรียน ตำราเรียน ในโรงเรียน เธอเล่าว่ามีชีวิตอยู่ในโลกแคบๆ ไปสอนหนังสือ-กลับบ้าน เป็นกิจวัตร เดิมทีเงาจันทร์เบื่อแสนเบื่อที่ต้องจมปลักกับชีวิตครูบ้านนอก เพราะโรงเรียนที่เธอสอนหนังสืออยู่นี้เป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบล เด็กนักเรียนส่วนมากเรียนไม่เก่ง แต่น่ารัก อัธยาศัยดี เงาจันทร์รับหน้าที่สอนชั้น ม.3-ม.5 และวิชาเลือกอีก 2 วิชา ถือเป็นงานหนักสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ ทั้งยังร่างกายไม่แข็งแรงอีกด้วย
 
 แต่เมื่อเงาจันทร์สะสมชั่วโมงบินได้พอตัว เธอเข้าใจ และมีความสุขต่อการสอนหนังสือมากขึ้น
 
 "อาจจะเป็นเพราะอายุเยอะแล้ว เริ่มสนุก จะเริ่มเรียนรู้จากเด็ก สอนจากเด็ก มีความสุขกับการสอนมากขึ้น"
 
 เมื่อหัวใจเหลือพื้นที่ว่าง เธอแบ่งสันปันส่วนทั้งเวลาและหัวใจให้การเขียนหนังสือ แต่ด้วยขอบข่ายเวลาอันจำกัด ช่วงเวลาเขียนหนังสือจึงถูกยกมาเป็นกิจวัตรแรกของวัน
 
 "เวลาที่เขียนหนังสือ คือ ตื่นนอนตีสี่ถึงตีสี่ครึ่ง ไม่ช้าจากนี้ ทำงานไปจนถึงหกโมงเช้า แล้วก็แต่งตัวมาโรงเรียน โลกมีแค่นี้ โรงเรียนและบ้าน พอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ใช้เวลาช่วงบ่ายโมงถ้าขยันก็นั่งเขียนเลย บางวันเอ้อระเหยหน่อยก็เป็นบ่ายสอง บ่ายสองครึ่ง ช้าสุดบ่ายสามก็มี เขียนไปจนถึงหกโมงครึ่ง"
 
 นักเขียนหลายคนกล่าวไว้ว่าการเดินทาง หาประสบการณ์ การใช้ชีวิต ช่วยให้คิดพล็อตเรื่องได้มาก แล้วสำหรับเงาจันทร์ที่โลกของเธอมีเพียงโรงเรียนและบ้าน...จะทำเช่นไร
 
 เงาจันทร์บอกว่าอันที่จริงเธอมิได้ขลุกตัวอยู่แต่บ้านหรือแค่เดินไปสอนหนังสือที่โรงเรียนใกล้ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อโรงเรียนปิดภาคเรียน ภารกิจของคุณครูก็หยุดพักลงชั่วคราว เธอชอบเดินทางท่องเที่ยว ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย, พม่า, ฯลฯ เธอตะลุยมาหมดแล้ว สำหรับกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร ก็เป็นหมุดหมายหนึ่งซึ่งเธอเข้ามาค้นหาประสบการณ์ โดยเฉพาะ 'ดูหนัง'
 
 "ช่วงวันหยุดบางทีก็เข้ากรุงเทพฯ ไปดูหนังบ้าง หนังส่วนมากเป็นดีวีดี หามาดูตั้งแต่หนังเก่าๆ ที่เราไม่ได้ดูสมัยเป็นเด็กเพราะที่บ้านยากจน หนังเป็นศิลปะที่ครบถ้วนกระบวนความ ให้ภาพ ให้เสียง ให้ความรู้สึก มันครบค่ะ"
 
 นอกจากภาพยนตร์แล้ว บทเพลงเพราะๆ และหนังสือดีๆ คือประสบการณ์ที่เธอเลือกมาจรรโลงสติปัญญาและจิตใจ
 
 อย่างที่บอกไปแล้วว่ากลิ่นท้องทุ่งเพชรบุรีคละคลุ้งอยู่ในงานเขียนของเงาจันทร์ทุกชิ้น ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่ายังหนีไม่พ้นเพชรบุรีจริงๆ เหตุผลแรกคือเพชรบุรีเป็นเมืองศิลปะ มีทรัพยากรมากมาย และอีกเหตุผล เธอยังมีวัตถุดิบภายใน (ใจ) เหลือคณานับ
 
 "เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่ร่ำรวยด้วยศิลปะ มันมีอะไรให้เขียนถึงเยอะมาก มีแม่น้ำ มีชายทะเล มีทุ่งนา มีภูเขา มีน้ำตก ถ้าไปป่าละอูมาก็ต้องได้เรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง และชอบเขียนอะไรที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็กๆ นี่ยังไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากการเป็นครูมาเขียนหนังสือด้วยซ้ำ อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่างบอกว่าเธอเขียนหนังสือไม่เหมือนครูเลย เคยมาเล่าให้แม่ฟังว่าอาจารย์ชมัยภรพูดแบบนี้ แม่ก็ถามว่าแล้วนี่มันคำชมหรือเปล่าล่ะลูก (หัวเราะ)"
 
 
 
เงาจันทร์... ผู้ป่วยทางโลก
 
 อย่างที่บอกไปแล้วว่าเงาจันทร์เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ทั้งยังสุขภาพไม่แข็งแรง ตั้งแต่เด็กเธอเจ็บออดแอดแต่พยายามปิดบังไม่ให้พ่อแม่รู้ เพราะไม่ต้องการให้พ่อแม่ห่วงกังวล ยิ่งเธอเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนาด้วยแล้วเธอย่อมปรารถนามีร่างกายแข็งแรงเฉกเช่นพ่อแม่พี่น้อง เธอสั่งสมความรู้สึกเหล่านี้ไว้กระทั่งโต แล้ววันหนึ่งมันก็ย้อนกลับมาทำร้ายเธอ โดยเฉพาะจิตใจ มีหลายคนทักว่าทำไมจึงพูดน้อยลง ทำไมไม่พูดจา เธอปรึกษาจิตแพทย์ จึงรู้ว่ากลายเป็นผู้ป่วยโรคจิตแล้ว
 
 และที่น่าประหลาดใจยิ่งนัก คือ สาเหตุของอาการทางจิตที่เธอประสบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการอ่านหนังสือ หากอ่านอย่างสามัญชนคงไม่มีผลเสียอันใด ทว่า เธอจับตัวเองไปอยู่ในเรื่องราวที่อ่าน ตามภาษาที่มักจะพูดกันว่า 'อิน'
 
 "วันหนึ่งอ่านงานของเฮมมิงเวย์ แล้วเจอตารางการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัวของเฮมมิงเวย์ประมาณ 11 คน ไปหาหมอเลย เพราะกลัวว่าชะตากรรมนั้นจะเกิดกับตัวเองอยู่ๆ ความกลัวนี้มันก็มา อาจเพราะตอนเด็กๆ อ่านงานของ คาวาบาตะเยอะ อ่านของเฮมมิงเวย์เยอะ อ่านของเรียวโนะซึเกะเยอะ แล้วตอนเด็กๆ ชอบคิดว่าการตายเป็นวีรกรรม"
 
 เธอรักษาตัวอย่างดีเสมอมา และพยายามหลีกเลี่ยงไม่พบปะผู้คน เพราะนั่นคืออาจทำให้อาการกำเริบหรือแย่ลง หากจำเป็นต้องเข้าสังคมเธอจะไปพบแพทย์เพื่อปรับเพิ่ม-ลดยาให้เหมาะสม นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ระยะหลังอาการดีขึ้นมาก ทว่าช่วงแรกเริ่มรักษา เงาจันทร์ถูกสั่งห้ามสิ่งที่เธอรักมากที่สุด นั่นคือ อ่านหนังสือและเขียนหนังสือ
 
 "บางช่วงหมอสั่งห้ามเขียนห้ามอ่าน ให้หยุด เพราะมีผล ไม่กลับไปอ่านเรื่อง Beautiful Mild เลย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนรู้สึกว่าเล่มแปลเป็นเล่มที่โอ่อ่ามากเลย สำนวนที่เขาแปลออกมา ประโยคมันยาวๆ ประโยคมันสวยๆ เนื้อหาสลับซับซ้อนไปมา แต่ตั้งแต่ป่วยก็ไม่กลับไปอ่านอีกเลย
 
 ถ้าเราอินกับมันมากไป บางทีการมองโลกด้านเดียว แล้วไม่ศึกษาให้ถี่ถ้วน การอ่านโดยไม่ใช้สติปัญญา อย่างตอนอยู่ ม.ปลาย อ่านงานของเอสเซ่ พูดถึงระบบการศึกษาว่าในที่สุดคนที่สอบได้ที่หนึ่ง เรียนเก่ง แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ต้องตาย เราอายุ 17-18 อ่านเรื่องนี้ ทำให้ไม่เข้าห้องเรียนเท่าไร เข้าเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบ ถ้าเด็กอ่านโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล บางทีก็เป็นปัญหาเหมือนกัน สติปัญญาของเด็กอย่างไรก็ต้องเรียนรู้จากผิดไปเป็นถูก"
 
 อย่างไรก็ตามสิ่งที่เธอเป็นก็ตกค้างอยู่เบื้องลึก และถูกถ่ายทอดออกเป็นผลงานเขียนด้วยเช่นกัน
 
 วันนี้เราเห็น 'ในรูปเงา' นวนิยายของเงาจันทร์ผงาดคว้าชัยในหลายเวที ทั้งยังรอผลตัดสินรางวัลซีไรต์อีกหนึ่งรางวัล แต่กว่าจะฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้ เงาจันทร์ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง..."คนที่เขียนเหมือนเป็นโรคจิต!"
 
 เงาจันทร์เปิดเผยว่า แปลกใจที่กรรมการรู้ได้อย่างไรว่าเธอป่วย แต่เบื้องลึกเธอก็ต้องการสะท้อนอยู่แล้วว่ามนุษย์ทุกคนเป็นโรคจิต แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น
 
 "เรื่องมีที่มาที่ไปแต่คงไม่ถูกใจกรรมการ โดนวิจารณ์เยอะมาก อาจารย์ชมัยภรกังวลด้วยซ้ำว่าจะไม่เขียนหนังสืออีกแล้ว มันก็ทำให้ขาดความมั่นใจเหมือนกัน แต่ก็ตั้งหลักใหม่ ฝันอยู่เสมอว่าจะเป็นนักเขียน และมันไม่มีเวลาเยอะแล้ว เพราะเริ่มต้นตอนปี 2545 ซึ่งอายุก็ไม่ใช่น้อยๆ แล้ว จะมาหยุดเขียนไม่ได้"
 
***
 
กว่าจะเป็น 'ในรูปเงา'?
 
 "มีเวลาเหลือ 2 อาทิตย์ แล้วก็ชอบพล็อตเรื่องที่อยู่ในหัวด้วยแหละ ช่วงนั้นค่อนข้างฟุ้งซ่านเพราะเจอเนื้องอกต้องรอผ่าตัด ช่วงที่รอผ่าตัดใจคนมันระส่ำระสายพอสมควรนะคะ ก็เลยมาเขียนเรื่องในรูปเงานี้เลย พยายามไม่อะไรนอกจากทำงานให้ดีที่สุด เอาชีวิตแขวนไว้กับนิยาย ไม่คิดเรื่องอื่น เขียนทั้งวันทั้งคืน จนพี่สาวถามว่านี่จะไม่กินไม่นอนเลยเหรอ
 
 ทีแรกตัวละครที่ชื่อพลิ้วชื่อลิ่ว เพราะเขามักจะถูกผลักดันโดยชะตากรรมที่เขาเองไม่รู้เรื่อง เช่น สาเหตุการตายของแม่ เขาใช่ลูกของพร้อมไหม เขาต้องหวาดหวั่นตลอดเวลา ลอยละลิ่วไปเรื่อย พอมาเจอความรัก ความรักก็ทำให้เขาไม่เข้าใจ หรือวัวตัวหนึ่งที่พ่อมาเอาให้เลี้ยงแล้วเขาก็ควบคุมมันไม่ได้ ทั้งที่พ่อดูยิ่งใหญ่ในสายตาเขา แค่คำรามในลำคอวัวก็เชื่อฟังแล้ว อ่านดูอีกครั้งหนึ่งก่อนส่ง คิดว่าทำไมไม่ชื่อพลิ้ว ก็เริ่มต้นแก้เฉพาะชื่อ แต่ก็ยังพบว่ามีชื่อผิดอยู่ดี
 
 ตอนที่ บก.ตุ๊ (ชีวี ชีวา) โทรมาบอกว่ากรรมการบอกเป็นเอกฉันท์ว่าให้ชนะนายอินทร์อะวอร์ด ทั้งที่ตัวละครสับสนไปมาระหว่างลิ่วกับพลิ้ว ก็แบ่งต้นฉบับอีกครั้งหนึ่งและแบ่งเป็นตอนๆ พี่ตุ๊บอกว่าทีนี้ค่อยเห็นหน้าเห็นหลังหน่อย ตอนได้นายอินทร์ก็ดีใจแล้วนะ เพราะอาจารย์ชมัยภรมักจะบอกว่าเขียนหนังสือมักจะใส่อะไรมากเกินไปเสมอ เป็นคนชอบรู้สึก เจอดอกไม้ก็รำพันอยู่อย่างนั้นล่ะ พอเวลาจำกัดนิยายก็ค่อนข้างสั้น เลยค่อนข้างกระชับ ค่อนข้างชัดเจน ความขัดแย้งมาก ทิ้งคำถามให้คนตีความเยอะแยะ เวลาใครวิจารณ์ก็ขำ เพราะบางทีเราไม่ได้ตั้งใจจะขนาดนั้น
 
 มีคนถามว่าตกลงพลิ้วใช่ลูกของพร้อมไหม ก็ไม่ได้ตอบนะ เพราะในความรู้สึกของตัวเองประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่แหละแต่ไม่มาก ประเด็นอยู่ที่คนที่รักเราอย่างลูก เลี้ยงดูเราตั้งแต่เด็ก แต่ต้องมาขัดแย้งเรื่องผู้หญิง ก็ค่อนข้างพอใจตอนจบนะ"
 
'ในรูปเงา' มีมุมมองด้านลบต่อผู้หญิง?
 
 "เป็นคนไม่มีมุมมองด้านลบต่อผู้หญิง ค่อนข้างเข้าข้างผู้หญิงด้วยซ้ำไป"
 
เมื่อผู้หญิงเข้ามาในชีวิตตัวละครต่างๆ จะเกิดหายนะ?
 
 "ทุกคนก็ต้องอยากได้สิ่งที่ตัวเองอยากได้ ผู้หญิงมีมารยาร้อยเล่มเกวียนอย่างที่เขาบอกกัน เขาต้องใช้มารยาที่เขามี มันเป็นเสน่ห์ของผู้หญิง เหมือนวัวตัวเมียที่ยั่วยวนวัวตัวผู้ให้ต่อสู้กันเพื่อแย่งมัน คิดว่ามันไม่ต่างกันเท่าไร แต่ไม่มองผู้หญิงในแง่ลบเลย ยังไงก็เป็นนักเขียนผู้หญิงและต้องการเขียนเชิดชูผู้หญิงเสมอ แต่มันต้องเป็นไปตามนั้นค่ะ จริงๆ รักตัวละครทุกตัวที่เขียน แต่ก็เสียใจที่พาทุกคนไปสู่โศกนาฏกรรมอย่างนั้น
 
 ต้องการบอกคนอ่านว่าเราทุกคนมีสัตว์ร้ายอยู่ในตัว ถ้าไอ้ดอกรุงรังมันมีขวัญที่เป็นสัญลักษณ์ของวัวร้ายอยู่ แล้วเอามันมาเลี้ยง ก็จะบอกคนอ่านกลายๆ นี่ก็เป็นข้อที่คนอ่านตั้งคำถาม ไม่ได้คิดไว้ก่อนหรอก แค่โชว์ว่ารู้ว่าวัวร้ายวัวดี แต่คนอ่านบอกว่าใช่ไหมที่จะบอกว่ามันเป็นลางว่าจะเกิดเหตุร้าย เราต้องการสื่อแค่ว่าทุกคนมีความดิบเถื่อน มีด้านมืด ถ้าไม่มีสติชั่วแวบหนึ่งมันก็ทำร้ายเรา ทำร้ายคนอื่น ตัวละครจะเป็นพวกขี้แพ้ซะส่วนมาก แพ้กิเลส มีชีวิตอย่างไม่สง่างาม"
 
เป็นนักเขียนหญิงคนเดียวที่เข้ารอบซีไรต์ปีนี้?
 
 "ไม่เคยคิดเขียนนิยายแข่งกับผู้หญิงที่เขียนหนังสือขาย ไม่คิดจะเขียนนิยายประโลมโลก จะเขียนหนังสือแข่งกับผู้ชายเสมอ ผู้หญิงไม่ได้คิดว่าคนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ก่อนแล้วค่อยมาเป็นผู้หญิงผู้ชายทีหลัง ความเท่าเทียมกันต้องมีค่ะ ต้องวัดกันที่สติปัญญา ไม่ใช่เรื่องเพศ ส่วนการที่ได้เข้ามาครั้งนี้ และเข้ามาพร้อมพี่ชาย (แดนอรัญ แสงทอง) ซึ่งเป็นนักเขียนใหญ่ คิดว่าเป็นเรื่องดีของครอบครัวเรานะ ครอบครัวชาวนาธรรมดา"
 
มีอะไรฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่?
 
 "คงเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ๆ จะจับปากกาเขียนเลย คงต้องเริ่มด้วยการอ่านหนังสือที่ตัวเองอยากอ่านก่อน แล้วก็เลือกประเภทว่าอยากเขียนหนังสือแบบไหน แต่การอ่านหนังสือดีเป็นเรื่องสำคัญ
 
 นักเขียนใหม่ต้องเริ่มด้วยการลงมือเขียน ต้องอ่านควบคู่ไป หมั่นพบเจอผู้คน หมั่นรับรู้ข่าวสาร ต้องมีอารมณ์ร่วมกับดินฟ้าอากาศ โลก โดยทั่วๆ ไป ทำตัวให้กลมกลืนกับโลก สังเกตโลกให้มาก สังเกตคนให้มาก สังเกตใจเราให้มาก แล้วจะออกมาเป็นงานเขียนที่เป็นเรื่องราว"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น